Menu:

Picture

ความเป็นมา

พื้นที่กว้างใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งจ.กาญจนบุรีในปัจจุบันมีประวัติความเป็นมาที่ต่อเนื่องและยาวนานประวัติหน้าสุดท้ายของกาญจนบุรีย้อนกลับไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์หน้าแรกได้อย่างบังเอิญเมื่อเชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟคนหนึ่ง ค้นพบเครื่องมือหินของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟบริเวณสถานีบ้านเก่า ต.จระเข้เผือก อ.เมือง ทำให้เกิดการขุดค้นทางโบราณคดีและสามารถค้นพบหลักฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมากแม้จนถึงปัจจุบันยังขุดพบอยู่  ในสมัยทวารวดีซึ่งอยู่ในสมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทยพบซากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี (ปัจจุบันเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม) ซึ่งเป็นเจดีย์ลักษณะเดียวกับจุลประโทณเจดีย์ จ.นครปฐม เจดีย์ที่บ้านคูบัว จ.ราชบุรีและที่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังพบฐานเจดีย์และพระพิมพ์สมัยทวารดี จำนวนมากที่บ้านท่าหวีริมแม่น้ำแควใหญ่ต.ลาดหญ้า อ.เมืองอีกด้วยแสดงว่าในสมัยนั้นพื้นที่ริมแม่น้ำหลายแห่งซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญมีชุมชนหรือเมืองโบราณซึ่งมีความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณใกล้เคียงกันในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16-18 ขอมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศไทยซึ่งพบหลักฐานสำคัญคือปราสาทเมืองสิงห์ซึ่งมีลักษณะเป็นศิลปะขอม สมัยบายนมีอายุในช่วงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพุทธศตวรรษที่ 18 นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่เป็นศิลปะขอม สมัยเดียวกันที่เมืองครุฑและเมืองกลอนโด อ.ไทรโยค  ในสมัยสุโขทัยพบหลักฐานในพงศาวดารเหนือว่ากาญจนบุรีตกเป็นเมืองขึ้นของสุพรรณบุรีตามที่กล่าวว่าพญากงได้มาครองเมืองกาญจนบุรีแต่ก็ไม่มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุนต่อมาในสมัยอยุธยากาญจนบุรีมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญโดยตัวเมืองตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสา ต.ลาดหญ้า ใกล้เขาชนไก่และ ยังปรากฏหลักฐานเป็นซากโบราณสถานและโบราณวัตถุดังที่เห็นในปัจจุบัน   
    กาญจนบุรี ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์โดย ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดเกล้าฯให้ย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งใหม่ที่บ้านปากแพรกเพื่อมาตั้งรับทัพพม่าที่เดินทัพลงมาตามลำน้ำแม่กลอง เพื่อเข้าตีกรุงเทพฯได้มีการสร้างกำแพงล้อมรอบเมืองอย่างมั่นคงในสมัยรัชกาลที่ 3 และให้มีเจ้าเมืองคือพระประสิทธิสงครามนอกจากนั้นยังตั้งหัวเมืองเล็กๆตามรายทางเป็นหน้าด่านอีกเจ็ดแห่ง  สมัยรัชกาลที่5 เมื่อมีการจัดรูปแบบการปกครองประเทศใหม่เป็นมณฑลเทศาภิบาลเมืองกาญจนบุรี ถูกโอนมาขึ้นกับมณฑลราชบุรีและแบ่งการปกครองเป็นสามอำเภอ คือ อ.เมือง อ.เหนือ (ปัจจุบันคืออ.ท่าม่วง) และ อ.ใต้ (ปัจจุบันคืออ.พนมทวน) และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2467 ได้ตั้งอำเภอเพิ่มอีกสองแห่ง คืออ.ท่ามะกาและอ.ทองผาภูมิกับกิ่ง อ.สังขละบุรี  ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่น ตัดสินใจสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าเชื่อมจากสถานีหนองปลาดุก จ.ราชบุรีผ่านกาญจนบุรีเลาะริมแม่น้ำแควน้อยไปเชื่อมกับทางรถไฟที่สร้างมาจากพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์เป็นทางรถไฟที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกและมีผู้คนจำนวนมาก เดินทางมาเยี่ยมชม เพื่อคาราวะต่อดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตและรำลึกถึงความโหดร้ายทารุณของสงคราม